คนทำงาน ที่ได้รับอันตรายจากการทำงาน ส่วนใหญ่มักขาดความเอาใจใส่ ในเรื่องของสุขภาพความปลอดภัยทั้งในส่วนตัวคนงานเอง และสถานประกอบการที่ ไม่มีนโยบายเรื่องสุขภาพความปลอดภัย รวมถึงการขาดประสิทธิภาพในการตรวจสอบให้ความรู้ บังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจ และปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยโดยเคร่งครัด แล้วเราจะปลอดภัยจากอันตรายหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ
สาเหตุโดยทั่วไปของอุบัติเหตุ อาจแบ่งได้ดังนี้
1. ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
มักเกิดกับบุคคลที่เข้าทำงานใหม่ ๆ หรือเข้าทำงานกับเครื่องมือ เครื่องจักรใหม่ โดยที่ ไม่ได้รับคำอธิบายถึงการปฏิบัติและการทำงานของเครื่องมือเครื่องจักรโดยละเอียด จึงมักจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อย ๆ
- การสอนเกี่ยวกับความปลอดภัยยังไม่ดีพอ
- กฎความปลอดภัยไม่มีผลบังคับใช้
- ไม่ได้วางแผนงานความปลอดภัยไว้เป็นส่วนหนึ่งของงาน
- จุดอันตรายต่าง ๆ ไม่ได้ทำการแก้ไข
- อุปกรณ์ความปลอดภัยไม่ได้จัดให้
- ขาดความรู้หรือไม่ได้ตระหนักในเรื่องความปลอดภัย
2. ความประมาท
- เกิดจากมีความเชื่อมั่นมากเกินไปเนื่องจากทำงานมานาน
- การละเลยไม่เอาใจใส่หรือมีทัศนคติผิด ๆในเรื่องความปลอดภัย
- เครื่องป้องกันอันตรายหรือเครื่องกั้นจัดไว้ให้ แต่ไม่ใช้หรือถอดออก
- ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ไม่ถูกต้องกับลักษณะของงานที่ทำ ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องมือที่ถูกต้องให้เลือกใช้ได้เหมาะสมก็ตาม
- ยกของด้วยวิธีผิด ๆ จนน่าจะเกิดอันตราย
- อิริยาบทในการเคลื่อนไหวน่าจะเกิดอันตราย เช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดด การก้าว การปีนป่าย
- การหยอกล้อ หรือล้อเล่นในระหว่างการทำงาน
3. สภาพร่างกายของบุคคล
- อ่อนเพลีย เนื่องจากไม่สบายเป็นไข้แล้วเข้าทำงานหนัก
- หูหนวก
- สายตาไม่ดี
- โรคหัวใจ
- สภาพร่างกายไม่เหมาะกับงาน
4. สภาพจิตใจของบุคคล
- ขาดความความตั้งใจในการทำงาน
- ขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ในขณะทำงาน
- ตื่นเต้นง่าย ขวัญอ่อน ตกใจง่าย
5. อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักร มีข้อบกพร่องอาจเนื่องจากสาเหตุ เช่น
- ใช้เครื่องมือไม่ถูกขนาด
- ใช้เครื่องมือที่สึกหรอชำรุด ทื่อ หรือหัก
- ใช้เครื่องมือที่ปราศจากด้ามหรือที่จับที่เหมาะสม
- ไม่ใช้เครื่องป้องกันอันตราย
- จับตั้งงานไม่ได้ขนาด และไม่มั่นคง
- ละเลยต่อการบำรุงรักษา เช่น น้ำมันหล่อลื่นไม่เพียงพอ
6. สภาพของบริเวณปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย เช่น
- แสงสว่างไม่เพียงพอ
- เสียงดังมากเกินไป
- การระบายอากาศที่ไม่เหมาะสม
- ความสกปรก
- บริเวณที่คับแคบ
- มีสารเคมี และเชื้อเพลิง
- พื้นที่ลื่น เนื่องจากคราบน้ำมัน
- หลุมและสิ่งกีดขวางทางเดิน
- การสูญเสียเนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุ
การที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นแต่ละครั้งย่อมหมายถึงการสูญเสียเกิดขึ้นทุกครั้ง ได้แก่
1. การสูญเสียโดยตรง
- ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือตาย และอาจทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายด้วย
- ทำให้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ตลอดจนทรัพย์สินอื่น ๆชำรุดเสียหาย
- การสูญเสียที่คิดเป็นเงินที่นายจ้างหรือรัฐบาลต้องจ่ายโดยตรง ให้แก่ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินทดแทนที่ต้องจ่ายโดยรัฐหรือโรงงาน ค่าทำขวัญ
2. การสูญเสียโดยทางอ้อม
คือ การสูญเสียซึ่งมักจะคิดไม่ถึง หรือไม่ค่อยได้คิดว่าเป็นการสูญเสียเป็นลักษณะการสูญเสียที่แฝงอยู่ไม่ปรากฏเด่นชัด เช่น
- สูญเสียแรงงานของลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ จะต้องใช้เวลาพักฟื้นจนกว่าจะหาย
- สูญเสียเวลาของลูกจ้างคนอื่น ๆ ซึ่งหยุดทำงานในขณะเกิดอุบัติเหตุด้วยเหตุผลต่อไปนี้ ความอยากรู้อยากเห็นเข้าไปมุงดูซักถามเหตุการณ์ด้วยความเห็นใจลูกจ้างผู้บาดเจ็บ ตื่นเต้น หรือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในการทำปฐมพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาล
- สูญเสียเวลาของแพทย์หรือพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ในการปฐมพยาบาล
- ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักรกล เครื่องมือ
- ทำให้ปริมาณผลผลิตขาดหายไป ผลิตให้ผู้ใช้ไม่ทันเวลา เงินรางวัล โบนัสประจำปีลดน้อยลงไป
- สูญเสียผลกำไรส่วนหนึ่งไป เนื่องจากลูกจ้างบาดเจ็บและเครื่องจักรหยุดทำงาน
- ทำให้คนงานขวัญเสีย เกิดความกลัว ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
- ครอบครัวต้องสูญเสียกำลังหลัก กำลังใจ สูญเสียรายได้
3. อันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
การทำงานในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น จะต้องสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ทำให้แต่ละคนได้รับพิษภัย และการเกิดโรคอันเนื่องมาจากการทำงานแตกต่างกันไปตามสถานะภาพ ในหน้าที่การงานของแต่ละคน อันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานพิจารณาได้ดังนี้
- เสียงดัง คนทำงานโดยทั่วไปประมาณวันละ 8 ชั่วโมง จะรับระดับเสียงได้ไม่เกิน 90 เดซิเบล ถ้าดังเกินไปจะทำให้หูตึงและอาจหูหนวกได้
- แสงสว่าง แสงสว่างมากเกินไป อาทิ เช่น จากเตาหลอม ไฟเชื่อม ทำให้ตาฝ้า ตามัว และอาจบอดได้
- ความร้อน ถ้าไม่มีการป้องกันความร้อนที่ดีแล้วอาจได้รับอันตรายจากความร้อน เช่น ทำให้อ่อนเพลียไม่มีแรง หน้ามืดบ่อย ๆ และอาจเป็นลมสลบได้
- ความกดดัน อากาศในบริเวณปฏิบัติงานที่มีความกดดันสูงกว่าปกติ จะทำให้เกิดอาการปวดหู อาจทำให้เยื่อหูฉีกขาดและทำให้หูหนวกในที่สุด
- ความสั่นสะเทือน อาจทำให้ เนื้อเยื่ออ่อนของมือ เกิดอาการอักเสบลุกลามไปถึงกระดูกข้อมือ หรือทำให้กล้ามเนื้อมือเป็นอัมพาตหรือทำให้อวัยะบางส่วนลีบได้
- สารเคมี ฝุ่น ไอ ควัน ละอองแก๊สของสารพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทางคือ
- โดยการหายใจ สารเคมีเมื่อเข้าไปถึงปอดจะถูกดูดซึมอย่างเร็วทำให้เกิดโรคปอดได้
- โดยการดูดซึมทางผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเป็นแผล เกิดอาการเป็นพิษต่อระบบหมุนเวียนโลหิตของร่างกาย
- โดยการกินเข้าไป
การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับวัสดุบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ วัสดุเหล่านี้ได้แก่
- วัสดุที่มีขอบแหลมคม
- วัสดุที่วางไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่มีสิ่งจับยึด แขวนไว้เหนือศรีษะโดยไม่มีเครื่องป้องกันอันตราย หรือวางไว้เกะกะบนพื้น
- วัสดุที่ติดไฟได้ง่าย เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ขยะมูลฝอย
- สารเคมีที่เป็นพิษ
- วัสดุที่มีอุณหภูมิสูง เช่น โลหะที่เผาจนร้อนจัด น้ำร้อน
- ไอน้ำหรืออากาศที่มีความดันสูง เช่น หม้อไอน้ำ เครื่องปั้มลม
- สื่อไฟฟ้าที่ปราศจากฉนวนหุ้ม
- บันไดที่หัก หรือนั่งร้านที่ไม่แข็งแรงนั่นเอง
หลักความปลอดภัยในการทำงานโดยทั่วไป
เรื่องสุขภาพความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องของใคร คนใดคนหนึ่ง เป็นเรื่องที่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือสถานประกอบการ และลูกจ้าง ต้องตระหนักและให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาพความปลอดภัย ปฎิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย วางนโยบาย เรื่องนี้อย่างจริงจังเคร่งครัด และร่วมมือกับผู้ปฎิบัติงานช่วยกัน ดูแลตรวจสอบอย่างจริงจัง และต้องคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้
- จะต้องยอมรับ และปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยของโรงงานโดยเคร่งครัด
- ใช้เครื่องมือให้ถูกวิธี ถูกขนาด และถูกกับงาน
- แต่งกายให้ถูกต้องตามระเบียบของโรงงาน และใช้เครื่องป้องกันอันตรายทุกครั้งที่ปฏิบัติงานที่กำหนดให้ใช้เครื่องป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือหรือเครื่องจักรที่ชำรุดเสียหาย หรืออยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน
- เก็บรักษาอุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ เมื่อนำไปใช้งานต้องเก็บไว้ให้ถูกจุดทุกครั้ง
- รักษาความสะอาดทางเดินในโรงงาน และติดป้ายแสดงให้ชัดเจนที่บริเวณปฏิบัติงานที่มีอันตราย
- รู้จักตำแหน่ง หรือที่ติดตั้งเครื่องดับเพลิงตลอดจนวิธีการใช้
- ปฏิบัติตามคำเตือนหรือเครื่องหมายแสดงอันตรายใด ๆ ภายในโรงงาน
- อย่าวิ่งหรือหยอกล้อกันในโรงงาน
- ในกรณีเกิดอุบัติเหตุให้รีบช่วยเหลือทันที
เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล
เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หมายถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่สวมใส่ลงบนอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือหลาย ๆ ส่วนรวมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายให้แก่อวัยวะส่วนนั้น ๆ ไม่ให้ต้องประสบกับอันตราย คือ เป็นการป้องกันอันตรายจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน