มาตรฐานแรงงานกับความรับผิดชอบทางสังคม [CSR]

มาตรฐานแรงงานกับความรับผิดชอบทางสังคม [CSR]
 

       เป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้บริหารจะละเลยไม่ได้ นอกจากนี้การดูแลพนักงานยังถือได้ว่าเป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางสังคมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของบริษัท เนื่องจากพนักงานหรือแรงงานเมื่ออยู่นอกเวลางานก็จะกลายเป็นสมาชิกของสังคม และยังถือได้อีกว่าการดูแลพนักงานเป็นอีกเรื่องภายใต้หลักธรรมาภิบาลทางธุรกิจ อีกด้วย

       ประเทศไทยของเราเองก็ได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ โดยกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้ประกาศมาตรฐานแรงงานไทยความรับผิดชอบทางสังคมที่เรียกว่า มรท. 8001 - 2553 ออกมาเพื่อเป็นแนวทางที่บริษัทต่างๆที่ต้องการจะทำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างสมบูรณ์แบบ จะได้นำไปใช้เป็นต้นแบบในการดูแลพนักงานของตน
ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจมักเรียกกันว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility มักจะมีภาพลักษณ์ที่จะแสดงให้สาธารณชนได้รับทราบทั่วไป ก็คือการนำพนักงานไปบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือสังคมหรือช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปลูกป่า ปลูกป่าชายเลน หรือบริจาคเงินช่วยสังคมในกรณีต่างๆ

       แต่ความจริงแล้ว การทำ CSR ของธุรกิจยังต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายด้านที่เรียกว่าเป็น “หลักการความรับผิดชอบต่อสังคม” ซึ่งได้แก่ หลักการปฏิบัติตามกฎหมาย หลักการเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล หลักการยอมรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หลักการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หลักการเคารพต่อความหลากหลาย หลักการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม หลักความโปร่งใส และหลักความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ ดังนั้นนอกจากเรื่องของการทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมเป็นระยะๆ เท่านั้น บริษัทที่ต้องการประกาศตัวเองว่า เป็นบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคม จึงควรพิจารณากิจกรรมอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก ซึ่งได้แก่ การสร้างมาตรฐานแรงงานขึ้นในบริษัทของตนเอง

       มาตรฐานแรงงานไทยความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ มรท. 8001 - 2553 เป็นมาตรฐานที่มีต้นแบบมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการอ้างอิงบรรดามาตรฐานไอเอสโอ ทั้งหลาย ดังนั้น มรท. 8001 - 2553 จึงเน้นไปที่การจัดทำระบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมา เพื่อเป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดในการนำไปปฏิบัติใช้ ซึ่งข้อดีของการทำระบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็คือการมีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน เมื่อมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่เขียนไว้ ก็จะสามารถตรวจสอบได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือในการปรับปรุงให้ดีขึ้นก็จะทำได้อย่างถูกต้องแม่นยำและตรงประเด็น
นอกจากนี้ ระบบที่เขียนขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรยังสามารถนำไปใช้ในการฝึกสอน อบรม หรือพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจได้มากกว่าวิธีการถ่ายทอดด้วยตัวบุคคล การเล่าให้ฟัง หรือการสอนงานแบบพี่เลี้ยง เนื่องจากจะมีบันทึกที่นำไปทบทวนความถูกต้องได้ตลอดเวลา

       การต้องจัดทำระบบมาตรฐานแรงงานให้เป็นลายลักษณ์อักษรจึงถือได้ว่าเป็นข้อกำหนดแรกที่ มรท. 8001-2553 หรือมาตรฐานแรงงานไทยแนะนำให้ปฏิบัติสำหรับบริษัทที่ต้องการจะทำ CSR ให้กับพนักงานของตน และเมื่อต้องมีระบบมาตรฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เรื่องที่ต้องตามมาอย่างหนีไม่พ้นก็คือการควบคุมเอกสารให้ทันสมัยเป็นเอกสารฉบับล่าสุดเท่านั้นที่จะนำมาอ้างอิงในการปฏิบัติ ไม่มีเอกสารเก่าหรือเอกสารที่ถูกยกเลิกไปแล้วหลงเหลืออยู่ที่จะทำให้เกิดการสับสนขึ้นได้ รวมไปถึงการจัดทำเอกสาร การทบทวน การแก้ไข การอนุมัติใช้เอกสาร การแจกจ่ายเอกสารไปยังหน่วยงานหรือพนักงานที่เกี่ยวข้อง และวิธีการเก็บรักษาเอกสาร เป็นต้น

       ต่อจากข้อกำหนดแรก ข้อกำหนดสำคัญต่อมาก็คือบริษัทจะต้องให้ผู้บริหารสูงสุดกำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและแรงงาน มีการประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการให้พนักงานทุกคนในบริษัทได้รับรู้และจะต้องสื่อสารนโยบายนี้ไปยังผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัทให้ทราบด้วย

        ผู้บริหารระดับสูงยังต้องทบทวนเป็นประจำว่านโยบายที่กำหนดไว้สามารถเกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามความประสงค์ของบริษัท หากพบข้อบกพร่องจะต้องมีการแก้ไข ปรับปรุง หรือเพิ่มเติมนโยบายให้เหมาะสมขึ้นอย่างเป็นปัจจุบัน  มีการแต่งตั้ง “ผู้แทนฝ่ายบริหาร” ที่จะรับผิดชอบดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐาน ร่วมกับ “ผู้แทนลูกจ้าง” เพื่อให้แน่ใจว่าการจัดทำแผน การกำหนดงบประมาณ การจัดหาทรัพยากรที่จำเป็น จะมีอย่างเหมาะสมเพียงพอ และผู้บริหารระดับสูงสุดจะต้องให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติขึ้นได้จริงและต่อเนื่อง
การปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานนี้ นอกจากจะต้องใช้ปฏิบัติกับพนักงานภายในบริษัทแล้ว ยังต้องครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติต่อ คู่ค้า ซัพพลายเออร์ หรือผู้รับเหมาเช่าช่วงที่ทำงานให้บริษัทด้วยเช่นเดียวกัน

        บริษัทที่มี CSR จะต้องไม่ใช้แรงงานบังคับโดยการว่าจ้าง การกำหนดเงื่อนไขการว่าจ้างโดยพนักงานไม่สมัครใจด้วยการข่มขู่ บังคับ หรือวิธีอื่นใด และยังต้องไม่เรียกหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันการทำงานใดๆจากพนักงานทั้งสิ้น ยกเว้นในส่วนที่ต้องทำตามกฎหมาย
การจ่ายค่าจ้างแรงงาน ค่าจ้างล่วงเวลา จะต้องเป็นไปตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน และต้องให้พนักงานได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างและค่าตอบแทนที่ได้รับในแต่ละงวด และไม่มีการหักค่าจ้างหรือเงินอื่น ยกเว้นในกรณีที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ชั่วโมงการทำงานของพนักงาน ต้องไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละไม่เกิน 48 ชั่วโมง และจะต้องจัดให้พนักงานมีวันหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน หากต้องมีการทำงานล่วงเวลา จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

        มาตรฐานแรงงานไทยยังแบ่งระดับบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมไทยออกเป็นประเภทตามจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของพนักงาน เช่น ไม่เกินสัปดาห์ละ 36 ชั่วโมง หรือ 24 ชั่วโมง หรือ 18 ชั่วโมง หรือ 12 ชั่วโมง เป็นต้น เนื่องจากต้องการให้พนักงานมีเวลาพักผ่อนและใช้ชีวิตนอกเหนือจากการทำงานได้มากที่สุดตามความเหมาะสม

        บริษัทจะต้องไม่เลือกปฏิบัติหรือสนับสนุนในการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานในการจ้างงาน การจ่ายค่าจ้าง การให้สวัสดิการ โอกาสได้รับการฝึกอบรมพัฒนา การพิจารณาเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ การเลิกจ้าง การเกษียณอายุการทำงาน เนื่องจาก เรื่องของสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อายุ เพศ สถานภาพสมรส ทัศนคติเรื่องเพศ ความพิการ การติดเชื้อเอชไอวี ความนิยมในพรรคการเมือง หรือแนวความคิดส่วนบุคคลในเรื่องต่างๆ

       ในเรื่องของการกำหนดวินัยและการลงโทษต่อพนักงาน บริษัทจะต้องไม่ทำหรือสนับสนุนการลงโทษพนักงานในทางร่างกาย ทางจิตใจ หรือกระทำการบังคับขู่เข็ญ ทำร้าย  และจะต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามิให้พนักงานถูกล่วงเกิน คุกคาม หรือได้รับความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ ผ่านการแสดงออกด้วยคำพูด ท่าทาง การสัมผัสทางกาย หรือด้วยวิธีการอื่นใด
บริษัทจะต้องไม่ว่าจ้างหรือสนับสนุนให้มีการว่าจ้าง เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าทำงาน และไม่สนับสนุนให้แรงงานเด็กทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย หรืออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อาจก่อนให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยต้องไม่ให้พนักงานหรือลูกจ้างหญิงทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ และต้องไม่เลิกจ้าง ลดตำแหน่ง หรือลดสิทธิประโยชน์ เพราะสาเหตุจากการมีครรภ์

       นอกจากนี้ มาตรฐานแรงงานไทยยังกำหนดให้บริษัทต้องเคารพสิทธิของพนักงานหากพนักงานมีความต้องการจัดตั้ง หรือร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน หรือคณะกรรมการอื่นๆ ในบริษัท โดยไม่ขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิของพนักงาน ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรม มาตรการในเรื่องของความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน บริษัทจะต้องกำหนดวิธีการในการให้ความใส่ใจดูแลพนักงาน โดยเฉพาะในงานประเภทที่มีแนวโน้มที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยต่อพนักงานเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น จะต้องให้พนักงานได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการ สภาพแวดล้อม หรือขั้นตอนงาน โดยไม่มีการปิดบังหรือปกปิด จะต้องจัดให้มีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และคู่มือความปลอดภัยที่ครบถ้วนและครอบคลุมการทำงานต่างๆ ที่พนักงานสามารถอ่านหรือรับทราบได้โดยสะดวก และต้องจัดให้มีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยให้กับพนักงานเข้าใหม่ หรือพนักงานที่โยกย้ายหรือเปลี่ยนหน้าที่ใหม่ในการปฏิบัติงาน รวมถึงการจัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ หรืออุปกรณ์ความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานให้กับพนักงานตามความเหมาะสมกับหน้าที่งาน

        หมวดสุดท้ายที่มาตรฐานแรงงานไทย ได้กำหนดไว้ เป็นเรื่องของการจัดสวัสดิการและการอำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับพนักงาน โดยเฉพาะในเรื่องของห้องน้ำห้องส้วมที่สะอาด ถูกสุขอนามัย ที่มีจำนวนที่เพียงพอกับจำนวนของพนักงาน

        การจัดให้มีน้ำดื่มสะอาด การปฐมพยาบาลและการรักษาพยาบาล สถานที่รับประทานอาหาร สถานที่เก็บรักษาอาหารที่สะอาด ถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร กรณีที่มีการจัดที่พักให้พนักงาน จะต้องจัดให้มีพื้นฐานที่จำเป็น มีความสะอาด ปลอดภัย และมีอุปกรณ์หรือระบบที่พร้อมใช้การได้อยู่เสมอ

         เป็นที่น่าชื่นชมว่ามาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมไทยซึ่งจัดขึ้นตามกรอบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเพื่อทำให้ธุรกิจไทยมีการดูแลสวัสดิการและสังคมผู้ทำงานของไทย เป็นไปตามหลักปฏิบัติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ปฏิญญาว่าด้วยความยุติธรรมทางสังคมเพื่อโลกาภิวัตน์ที่เป็นธรรม และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ และอีกหลายๆ หน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก

         แม้ว่ามาตรฐานแรงงานไทยฉบับนี้จะไม่ถือว่าเป็นมาตรฐานที่บังคับใช้ แต่จะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับบริษัท หรือสถานประกอบการทุกประเภท ทุกขนาด สามารถนำไปใช้ปฏิบัติต่อพนักงานหรือแรงงานของตนด้วยความสมัครใจ เพื่อพัฒนากิจการให้มีระบบบริหารจัดการแรงงานที่ดีเทียบเท่ามาตรฐานแรงงานสากล โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน และการสร้างความรับผิดชอบทางสังคมของบริษัท

         บริษัทที่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดของมาตรฐาน มรท. 8001 - 2553 นี้ ยังจะสามารถขอการรับรองได้จาก กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และใช้เป็นหลักฐานในการแสดงให้สังคมและวงการธุรกิจทั่วไปได้รับทราบ


         การค้าขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มักจะใช้เรื่องของการปฏิบัติต่อแรงงานที่ไม่เป็นธรรมยกมาเป็นข้ออ้าง ก็จะไม่เกิดปัญหาอุปสรรคขึ้นมาได้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์