กิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานเป็นกิจกรรมหนึ่งของสถานประกอบการ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดถัยแก่ลูกจ้างอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการดำเนินงานของสถานประกอบการนั้น ๆ หากสถานประกอบการใดต้องการดำเนินการกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัย สามารถพิจารณาเลือกกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และความพร้อมของสถานประกอบการ ดังนี้
1. การจัดนิทรรศการ
เป็นกิจกรรมที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่ำ สามารถจัดทำภาพชุดนิทรรศการได้จากเรื่องราวภายในสถานประกอบการเอง โดยนำภาพอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น สถิติการประสบอันตรายของลูกจ้างเมื่อมีภาพเหตุการณ์จริงให้ระบุสาเหตุ ผลเสียหาย และวิธีการป้องกันแก้ไข นิทรรศการสามารถจัดแสดงในวันแห่งความปลอดภัย หรือสัปดาห์ความปลอดภัยเพื่อให้ลูกจ้างเกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกในการทำงานอย่างปลอดภัย และทำให้ลูกจ้างเข้ามามีส่วนร่วมได้เป็นจำนวนมาก
2. การบรรยายพิเศษ
เป็นกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของลูกจ้าง อาจเชิญวิทยากรภายในหน่วยงาน หรือจากภายนอกก็ได้ มาให้ข้อแนะนำแก่ผู้บริหารหรือลูกจ้างของสถานประกอบการนั้น อันเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัยจนเกิดประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด
3. การสนทนาความปลอดภัย
เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สถานประกอบการจัดในรูปของการประชุม การพูดคุย หรือการอภิปรายเกี่ยวกับความปลอดภัย มีการสนทนา โดยนำผู้ชำนาญการเฉพาะเรื่องมาร่วมสนทนาพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มีการซักถาม ทำให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์ และได้ข้อสรุปนำไปดำเนินการต่อไป
4. การประกวดคำขวัญความปลอดภัย
เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ โดยการพัฒนาจิตสำนึกและทัศนคติของพนักงานในรูปข้อความหรือคำขวัญที่เป็นการเตือนให้เกิดความระมัดระวัง หรือเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงาน สถานประกอบการสามารถจัดการประกวดเอง ส่วนกติกาการประกวดอาจกำหนดขึ้นเอง
5. การประกวดภาพโปสเตอร์
เป็นกิจกรรมเพื่อให้ลูกจ้างของสถานประกอบการมีส่วนร่วมในการผลิตสื่อ ประชาสัมพันธ์ในการกระตุ้นจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ส่วนกติกาของการประกวดสถานประกอบการสามารถกำหนดได้เอง
6. การประกวดการรายงานสภาพงานที่ไม่ปลอดภัย
เป็นกิจกรรมเพื่อให้พนักงานได้สำรวจสภาพการทำงาน ค้นหาจุดที่ไม่ปลอดภัย ดำเนินการถ่ายภาพ บันทึกจากจุดอันตรายจากขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ เสนอภาพและรายงานข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือก สามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย
7. การประกวดความสะอาด
เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากลูกจ้างทุกคนในแต่ละแผนก และเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดกิจกรรม 5ส เพื่อความปลอดภัยในโอกาสต่อไป หากสถานประกอบการยังไม่พร้อมในการจัดกิจกรรม 5ส การประกวดความสะอาดจะเป็นกิจกรรมที่ง่ายและก่อให้เกิดสุขภาพอนามัยที่ดีของลูกจ้างและผู้บริหาร อันนำไปสู่ความปลอดภัยในการทำงาน
8. การจัดฉายวีดีโอความปลอดภัย
เป็นกิจกรรมที่สถานประกอบการจะจัดไปพร้อมกับนิทรรศการในวันหรือสัปดาห์ความปลอดภัย โดยขอใช้วีดีโอความปลอดภัยนำไปฉายให้ลูกจ้างได้ดู เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติที่ดีแก่ลูกจ้าง
9. การรณรงค์การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
เมื่อสถานประกอบการได้จัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่เหมาะสมให้ลูกจ้างสวมใส่ แล้ว ควรจัดการรณรงค์ให้ลูกจ้างใช้ เนื่องจากสถานประกอบการส่วนใหญ่จะประสบปัญหาลูกจ้างไม่นิยมใช้ทำให้เกิดการสูญเปล่า การรณรงค์จะดำเนินการในช่วงใดช่วงหนึ่ง มีการประกวด แข่งขัน ให้รางวัลแก่ลูกจ้างที่ส่วมใส่ถูกต้องและครบถ้วน
10. การรณรงค์กิจกรรม 5ส
สถานประกอบการต้องประกาศเป็นนโยบายและต้องกระทำโดยลูกจ้างทุกคน ทุกระดับโดยมีผู้บริหารระดับสูงลงมาตรวจตราเป็นระยะ ๆ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและปฏิบัติกิจกรรม 5ส อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
11. การรณรงค์ด้วยโปสเตอร์และสัญลักษณ์ความปลอดภัย
โปสเตอร์และสัญลักษณ์ความปลอดภัยเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการเตือนให้ระวังและสามารถสร้างจิตสำนึกของคนงานให้เกิดความตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โปสเตอร์ต่าง ๆ
12. การรณรงค์ลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ด้วย KYT
สถานประกอบการสามารถดำเนินการโดยใช้เทคนิค KYT ด้วยวิธีการฝึกอบรมลูกจ้างให้หยั่งรู้อันตรายที่จะเกิด และให้มีการย้ำเตือนตนเอง เพื่อให้สามารถลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์
13. การทำแผ่นป้ายแสดงสถิติอุบัติเหตุหรือป้ายประกาศ
สถานประกอบการสามารถจัดทำแผ่นป้ายขนาดใหญ่แสดงสถิติอุบัติเหตุ หรือป้ายประกาศกิจกรรมด้านความปลอดภัยปิดไว้หน้าโรงงานในตำแหน่งที่เห็นได้ชัด บางแห่งอาจเขียนไว้ข้างฝาด้านหน้าของโรงงาน เพื่อให้คนงานมีจิตสำนึกให้ความร่วมมือในการลดสถิติของอุบัติเหตุ
14. การตอบปัญหาชิงรางวัล
สถานประกอบการอาจจัดให้มีการตอบปัญหาชิงรางวัลในช่วงงานสัปดาห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการ วิธีการตอบปัญหาจากภาพนิทรรศการ หรือเอกสารที่แจกในงาน หาจุดอันตรายจากภาพเหตุการณ์จริง และมอบรางวัลโดยคณะกรรมการจัดงาน
15. การกระจายเสียงบทความ
สถานประกอบการบางแห่งมีการประชาสัมพันธ์ โดยการส่งเสียงตามสายภายในบริเวณโรงงานหรือโรงอาหาร คณะกรรมการความปลอดภัยฯ นำบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยออกเสียงตามสาย เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่ลูกจ้าง รวมทั้งมาตรการแก้ไขสภาพการทำงานจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริงในบริเวณโรงงานด้วย
16. การเผยแพร่บทความในวารสาร
สถานประกอบการที่ได้จัดทำวารสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายแก่ลูกจ้างหรือลูกค้าสามารถนำบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยไปตีพิมพ์ในวารสาร เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น
17. การทัศนศึกษาในสถานประกอบการอื่น
กิจกรรมนี้เหมาะสมแก่ลูกจ้างหรือคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ได้มีโอกาสไปเห็นสภาพการทำงานในสถานประกอบการอื่นที่ดีเด่น เพื่อนำมาปรับปรุงสภาพการทำงานของตนให้ดีขึ้น โดยขอความร่วมมือสถานประกอบการดีเด่นที่ได้รับรางวัล หรือสถานประกอบการที่ดำเนินการด้านความปลอดภัยที่เป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อขอเข้าเยี่ยมชม