Risk Assessment เพื่อการจัดการสารเคมีของประเทศ

Risk Assessment เพื่อการจัดการสารเคมีของประเทศ
 

       ปัจจุบันมีการนำเอาสารเคมีจำนวนมากมาใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในด้านต่างๆ เช่นใช้เป็นยารักษาโรค เครื่องสำอาง เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใช้เป็นสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (pesticides) ตลอดจนนำมาใช้ในการผลิตด้านต่างๆ ทางอุตสาหกรรม การนำสารเคมีเหล่านี้มาใช้มีผลทำให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมนุษย์ก็มีโอกาสได้รับสารเคมีที่ปนเปื้อนนี้ในปริมาณน้อยๆ เป็นเวลานานจนอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอนามัยได้ เนื่องจากปริมาณสารเคมีที่ได้รับในแต่ละวันมีปริมาณน้อยและความเป็นพิษมิได้เกิดขึ้นในทันทีที่ได้รับสาร แต่อาจเกิดจากการได้รับสารอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี หรือนานกว่า การสรุปผลว่าความเป็นพิษที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการได้รับสารใดจึงทำได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการควบคุมหรือจัดการสารเคมี ซึ่งสามารถทำได้โดยการวางแผนการใช้ การจัดการกากของเสียที่เหมาะสม และที่สำคัญคือต้องมีกฎหมายที่มีการบังคับใช้อย่างชัดเจนการประเมินความเสี่ยงเป็นเครื่องมือสำคัญที่หน่วยงานต่างๆ ใช้ในการควบคุมการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหารและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อมนุษย์

       การประเมินความเสี่ยงเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นพิษที่เกิดขึ้นจากการได้รับสารในปริมาณน้อยๆ และเป็นเวลานาน ตลอดจนปริมาณสูงสุดที่มนุษย์สามารถรับได้ในแต่ละวันโดยไม่เกิดอันตรายใดๆ ต่อสุขภาพ บทความนี้จะกล่าวถึงหลักการของการประเมินความเสี่ยง ประโยชน์ของการประเมินความเสี่ยง หน่วยงานที่มีการนำเอาการประเมินความเสี่ยงมาใช้ในการจัดการสารเคมี และข้อเสนอแนะเพื่อให้การนำเอาการประเมินความเสี่ยงมาใช้ได้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักการประเมินความเสี่ยง

       การจัดการสารเคมีที่มุ่งเน้นผลของสารเคมีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนจำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านพิษวิทยามารวมเข้ากับความรู้ด้านคณิตศาสตร์สำหรับการคำนวณค่าความปลอดภัยของสารเคมี การศึกษาวิจัยในด้านนี้ได้เพิ่มพูนมากขึ้นจนเกิดเป้นศาสตร์ใหม่ขึ้นมา ศาสตร์ดังกล่าวนี้ได้ขยายองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับและมีการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางศาสตร์ที่กล่าวนี้ คือ “การประเมินความเสี่ยง” (risk assessment)

       ปัจจุบันได้มีการนำเอาหลักการการประเมินความเสี่ยงจากการได้รับสารเคมีไปใช้ทางด้านจุลชีววิทยา (microbiological risk assessment) นอกจากนี้ยังได้มีการนำความรู้ไปใช้สำหรับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การประเมินความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ (ecological risk assessment) และใช้สำหรับการปศุสัตว์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเน้นการเกิดโรคต่อฝูงสัตว์ปศุสัตว์ (herd health risk assessment)

       ในการศึกษาและนำความรู้เรื่องการประเมินความเสี่ยงไปใช้นั้น ต้องทราบว่าการประเมินความเสี่ยงมีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ คือ มีความเป็น state-of the art หมายความว่า มีการนำเอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลด้านพิษวิทยาที่ได้จากการศึกษาในสัตว์ทดลองไปใช้คำนวณค่าความปลอดภัยสำหรับมนุษย์ ซึ่งต้องมีการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (mathematical model) และสมมุติฐานต่างๆ ในการคำนวณหรือแม้จะใช้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในมนุษย์ก็ต้องมีการนำข้อมูลนั้นไปคำนวณโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อให้ได้ค่าความปลอดภัยที่สามารถนำไปใช้ได้กับประชาชนทั่วไปได้ นอกจากนี้การคำนวณค่าความปลอดภัยยังขึ้นกับแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่นำมาใช้ถึงแม้จะใช้ข้อมูลความเป็นพิษเดียวกัน แต่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ต่างกัน ค่าความปลอดภัยที่คำนวณได้ก็แตกต่างกันด้วย  การประเมินความเสี่ยงยังมีคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการคือ มีความเป็น dynamics หมายความว่า ค่าความปลอดภัยสำหรับมนุษย์ที่คำนวณได้นั้นไม่ใช่ค่าคงที่ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการศึกษาใหม่หรือมีวิธีการประเมินค่าความปลอดภัยใหม่

       การประเมินความเสี่ยงเป็นขั้นตอนแรกของการวิเคราะห์ความเสี่ยง (risk analysis) ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ การประเมินความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยง (risk management) และการสื่อสารความเสี่ยง (risk communication) เพื่อความเข้าใจในขั้นตอนของการวิเคราะห์ความเสี่ยง ขอยกตัวอย่าง ดังนี้ กรณีเกิดการปนเปื้อนของตะกั่วในแหล่งน้ำธรรมชาติในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ความเข้มข้น 5 พีพีเอ็ม (5 มิลลิกรัม/ลิตร) ซึ่งเป็นที่สนใจและกังวลใจของประชาชนด้วยคำถามว่า ความเข้มข้นของตะกั่วดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรือไม่และจะมีการดำเนินการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างไร ขั้นตอนแรก ผู้บริหารจะให้ผู้ประเมินความเสี่ยง (risk assessor) ศึกษาว่าความเข้มข้นของตะกั่วในแหล่งน้ำนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำนั้นหรือไม่โดยใช้หลักการประเมินความเสี่ยง ซึ่งต้องมีการศึกษาการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่อย่างละเอียด ในกรณีที่ผลการศึกษาสรุปว่า มีความเสี่ยงในการใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค ขั้นตอนต่อไปผู้บริหารจำเป็นต้องดำเนินการจัดการความเสี่ยง เช่น ฟื้นฟูแหล่งน้ำดังกล่าว หรือหาแหล่งน้ำแห่งใหม่ให้ประชาชนใช้ และขั้นตอนสุดท้าย จึงเป็นการสื่อสารกับประชาชนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้น้ำจากแหล่งน้ำนั้น และวิธีการจัดการแก้ไขปัญหาของผู้บริหารให้ประชาชนทราบ

หน่วยงานด้านการประเมินความเสี่ยงที่ควรรู่้จัก

U.S. EPA (United States Environmental Protection Agency) เป็นหน่วยงานหลักที่ศึกษาเรื่องการประเมินความเสี่ยง ในขั้นตอน dose-response assessment นั้น U.S. EPA รายงานค่าความปลอดภัยของสารไม่ก่อมะเร็งด้วยค่า reference dose (RfD) และ referenceconcentration (RfC) U.S. EPA ได้คำนวณค่า RfD/RfC ของสารเคมีมากกว่า 500 สารพร้อมทั้งรายละเอียดการคำนวณ สามารถสืบค้นได้จาก website www.epa.gov/iris

ATSDR (Agency for Toxic Substances and Disease Registry) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาเรื่องการประเมินความเสี่ยงของสารไม่ก่อมะเร็งเท่านั้น

ขั้นตอนของการประเมินความเสี่ยง

       การประเมินความเสี่ยง (risk assessment) หมายถึงกระบวนการประเมินโอกาสที่จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์จากการได้รับสารเคมี ผลของการประเมินความเสี่ยงนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้บริหารความเสี่ยง (risk manager) ใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนดำเนินการต่างๆ เพื่อลดการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม (น้ำ อากาศ ดิน และอาหาร) ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการสรุปผลการประเมินความเสี่ยงกระทำโดยผู้วิเคราะห์ความเสี่ยง (risk assessor) การประเมินความเสี่ยงประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ

       - Hazard Identification เป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสรุปว่าการได้รับสารเคมีที่กำลังสนใจอยู่นั้นมีผลเสียต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่ เนื่องจากมีสารเคมีเพียงไม่กี่สารเท่านั้นที่มีข้อมูลความเป็นพิษในมนุษย์อย่างแน่ชัด ดังนั้น hazard identification ของสารเคมีจึงรวมถึงผลการศึกษาในสัตว์ทดลองด้วยการประเมินความเสี่ยงจะหยุดเพียงแค่ขั้นตอน hazard identification เท่านั้น ถ้าไม่พบว่าการได้รับสารเคมีที่กำลังศึกษาอยู่นี้ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์

       - Dose-Response Evaluation เป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของสารที่ได้รับและความรุนแรงของความเป็นพิษทั้งเชิงคุณภาพ (qualitative) และเชิงปริมาณ(quantitative) ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง และอาจมีบางส่วนที่ได้จากการศึกษาในมนุษย์ การคำนวณความเสี่ยงจากการได้รับสารเคมีจะทำได้นั้น ต้องทราบความสัมพันธ์เชิงปริมาณระหว่างความเป็นพิษและปริมาณสารเคมีที่ได้รับ (dose-response relationship) ด้วย ในขั้นตอนนี้แบ่งสารเคมีเป็น 2 กลุ่ม คือ

       - สารไม่ก่อมะเร็ง (non-carcinogen) รวมถึงสารก่อมะเร็งที่ไม่มีผลต่อยีน (nongenetic carcinogen) และความเป็นพิษอย่างอื่นที่ไม่ใช่การเกิดมะเร็ง (non-carcinogenic effects) จากสารก่อมะเร็ง แนวความคิดเกี่ยวกับสารไม่ก่อมะเร็งคือ สารเคมีกลุ่มนี้แสดง threshold ซึ่ง หมายถึงปริมาณสารเคมีที่มากที่สุด เมื่อได้รับเข้าไปทุกวันแล้วจะไม่ทำให้เกิดความผิดปกติใดๆ

       - สารก่อมะเร็งที่มีผลต่อยีน (genetic carcinogen) สำหรับสารก่อมะเร็งจะใช้แนวความคิดที่ว่าสารกลุ่มนี้ไม่มี threshold ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะได้รับสารก่อมะเร็งปริมาณมากน้อยเพียงใดก็ตาม แม้เพียง 1 โมเลกุลก็มีโอกาส (probability) ที่จะเกิดมะเร็งได้

       - Exposure Assessment เป็นการประเมินปริมาณสารเคมีที่มนุษย์หนึ่งคนหรือประชากรหนึ่งกลุ่มได้รับจากสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมากของการประเมินความเสี่ยง ทั้งนี้เพราะความเป็นพิษของสารเคมีจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่ได้รับสารนั้น และความรุนแรงของความเป็นพิษขึ้นกับปริมาณของสารที่ได้รับ ดังนั้นถ้าการประเมินปริมาณสารที่ได้รับผิดพลาดจากความเป็นจริง การคำนวณความเสี่ยงก็จะมีความคลาดเคลื่อน (uncertainty) สูง

       - Risk Characterization เป็นการรวบรวมเอาข้อมูลและผลการวิเคราะห์ของสามขั้นตอน ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น มาใช้คำนวณความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดผลเสียในมนุษย์จากการได้รับสารเคมี