เสียง (Noise) เป็นเสียงที่คนไม่ต้องการได้ยิน อาจมีผลเสียต่อสุขภาพ ดังนี้
- ผลเสียทางด้านจิตใจ ทำให้ตกใจ รำคาญ รบกวนการพักผ่อนและการทำงาน มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานและความปลอดภัยในการทำงาน
- ผลเสียทางด้านร่างกาย ทำให้สูญเสียการได้ยิน ทำให้ปวดแก้วหูในกรณีได้รับเสียงดังมาก
เสียงดัง หมายถึง เสียงที่มีความดัง จนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบการได้ยิน ทั้งนี้กฎหมายแรงงานระบุให้ต้องควบคุมระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดเวลาการทำงานในแต่ละวัน (Time Weighted Average-TWA) มิให้เกินมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่สภาวะการทำงานในสถานประกอบกิจการมีระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานแปดชั่วโมงตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอขึ้นไป ให้นายจ้างจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรฐานและกฎหมายเสียงดังในที่ทำงานของประเทศไทย
1. กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2549
ข้อ 8 นายจ้างต้องควบคุมระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดเวลาการทำงานในแต่ละวัน (Time Weighted Average-TWA) มิให้เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ในตารางที่ 6 ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 9 ในบริเวณสถานประกอบกิจการที่มีระดับเสียงกระทบหรือเสียงกระแทก (Impact or Impulse Noise) เกินหนึ่งร้อยสี่สิบเดซิเบลเอ หรือมีปริมาณเสียงสะสมของเสียงกระทบหรือเสียงกระแทกเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ในตารางที่ 6 ท้ายกฎกระทรวงนี้ นายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดทำงานจนกว่าจะได้ปรับปรุงหรือแก้ไขระดับเสียงหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจวัดระดับเสียงกระทบหรือเสียงกระแทก ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
ข้อ 10 ภายในสถานประกอบกิจการที่สภาวะการทำงานมีระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเกินมาตรฐานที่กำหนดในข้อ 8 หรือข้อ 9 ให้นายจ้างดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขสิ่งที่เป็นต้นกำเนิดของเสียงหรือทางผ่านของเสียงหรือการบริหารจัดการเพื่อให้มีระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับอยู่ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด
ในกรณียังดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขตามวรรคหนึ่งไม่ได้ นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ตลอดเวลาที่ทำงาน เพื่อลดเสียงให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้อ 8 หรือข้อ 9
ข้อ 11 ในบริเวณที่มีระดับเสียงเกินมาตรฐานที่กำหนดในข้อ 8 หรือข้อ 9 นายจ้างต้องจัดให้มีเครื่องหมายเตือนให้ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลติดไว้ให้ลูกจ้างเห็นได้โดยชัดเจน
ข้อ 12 ในกรณีที่สภาวะการทำงานในสถานประกอบกิจการมีระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานแปดชั่วโมงตั้งแต่แปดสิบห้าเดซิเบลเอขึ้นไป ให้นายจ้างจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
2. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2546
ข้อ 8 ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องควบคุมมิให้บริเวณปฏิบัติงานในโรงงานมีระดับเสียงเกินกว่ามาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ในตารางท้ายหมวดนี้
ข้อ 9 ห้ามมิให้บุคคลเข้าไปในบริเวณที่มีเสียงดังเกินกว่า 140 เดซิเบล
ข้อ 10 บริเวณปฏิบัติงานที่มีระดับเสียงเกินกว่ามาตรฐานตามข้อ 8 ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องปิดประกาศเตือนให้ทราบถึงบริเวณที่มีเสียงดังเกินมาตรฐานที่กำหนด
มีปัจจัยอะไรบ้าง...ทำให้หูตึงจากการทำงานและใครมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ
หูตึงจากการทำงานในที่มีเสียงดัง มีสาเหตุดังนี้
1. ระดับความดังของเสียง หากทำงานในที่มีเสียงที่ดังเกิน 80 เดซิเบลเอ ขึ้นไป เป็นระยะเวลานานๆ จะมีโอกาสสูญเสียการได้ยิน เสียงยิ่งดังมากความเสี่ยงต่อการหูตึงยิ่งมีมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามโดยทั่วไประดับเสียงที่มีการเฝ้าระวังในภาคอุตสาหกรรม คือ 85 เดซิเบลเอขึ้นไป
2. ความถี่ของเสียง เสียงความถี่สูง หรือเสียงแหลมจะทำลายประสาทการได้ยินได้มากกว่าเสียงทุ้ม
3. ลักษณะของเสียง เสียงกระแทกจะทำลายประสาทการได้ยินมากกว่าเสียงดังต่อเนื่อง
4. ระยะเวลาทำงาน คนที่ทำงานในที่มีเสียงดัง นานหลายปีหรือได้รับเสียงดังนานเกินไปในแต่ละวัน โอกาสหูเสื่อมจะมีเพิ่มขึ้น
5. ความไวต่อเสียง หรือความทนของหู ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมบางคนหูเสื่อมเร็วกว่าบางคน ทั้งๆ ที่ทำงานในที่เดียวกัน
6. การใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง สามารถป้องกันหูตึงได้หากอุปกรณ์นั้นมีคุณภาพ และผู้ใช้สวมใส่อย่างถูกต้อง
ทราบได้อย่างไรว่า...เริ่มมีอาการหูตึง
คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเสียงดังโดยขาดการป้องกันที่ดีเป็นระยะเวลานานๆ ในระยะแรกจะเริ่มมีอาการหูตึง หูอื้อชั่วคราว และมีเสียงดังในหู อาจเป็นระยะเวลาสั้นๆ หลังเลิกงาน หากยังละเลยอาการจะเพิ่มขึ้น และหูจะตึงถาวรในที่สุด เพราะประสาทรับฟังเสียงจะถูกทำลายอย่างถาวร ดังนั้นหากเริ่มมีอาการ ดังนี้
1. มีความยากลำบากในการรับฟังเสียงของคนที่คุยด้วย
2. มีเสียงดังในหู หรือหูอื้อชั่วคราว หลังจากทำงานในที่มีเสียงดัง
3. ต้องตะโกนคุยกับเพื่อนในระยะ 1 เมตร
ท่านควรตระหนักว่าเริ่มมีอาการหูตึงแล้ว ดังนั้น จึงควรรีบหาทางป้องกันระบบการได้ยิน ก่อนที่จะสายเกินแก้ไข คือเกิดอาการหูตึงอย่างถาวรในที่สุด เนื่องจากประสาทรับฟังเสียงถูกทำลาย
ตัวอย่างการปรับปรุงแก้ไขเพื่อช่วยลดปัญหาการทำงานสัมผัสเสียงดัง
1. ปรับปรุงที่แหล่งกำเนิดเสียง
- บำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ เช่น การเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ ตามกำหนดระยะเวลาการใช้งาน หรือก่อนที่จะเกิดการชำรุด การตรวจเติม สารหล่อลื่นเพื่อลดการสึกหรอ เนื่องจากการเสียดสี การตรวจสอบ/ขันน๊อตยึดส่วนประกอบต่างๆ ให้แน่นสนิท การบำรุงรักษานี้ควรเป็นระบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive maintenance)
- เลือกใช้เครื่องจักรที่ไม่ก่อให้เกิดเสียงดังมาก เช่น เลือกใช้เครื่องปั๊มแบบไฮดรอลิกส์ แทนเครื่องปั๊มแบบข้อเหวี่ยง
- ลับคมใบเลื่อย ใบมีดกบไสไม้ ดอกกัดขึ้นรูปชิ้นงานไม้เป็นต้น ให้มีความคม เพื่อช่วยลดระดับเสียงจากการตัด ไส กัดผิว/เนื้อไม้ขึ้นรูปชิ้นงาน
- การติดตั้งเครื่องจักรบนพื้นที่มีความมั่นคง และติดอุปกรณ์ลดแรงสั่นสะเทือนที่ฐานหรือขาของเครื่องจักร เช่น ยาง หรือสปริง เมื่อแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการทำงานของเครื่องจักรลดลง ระดับเสียงที่เกิดขึ้นก็จะลดตามลงด้วย นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาเสียงดังที่ส่งผ่านไปตามโครงสร้างของอาคารด้วย
- ใช้แผ่นวัสดุช่วยดูดซับเสียงที่เกิดจากแรงกระแทก ติดที่ด้านหลังของหน้าสัมผัส การติดแผ่นวัสดุช่วยดูดซับเสียง จะต้องแนบติดกับโลหะเป็นเนื้อเดียวกัน
ตัวอย่างการป้องกันที่ทางผ่านของเสียง
โดยเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติในการดูดซับเสียงเหมาะสมกับลักษณะของเสียงที่เกิดขึ้นในแต่ละความถี่ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด
- ปิดครอบเครื่องจักรที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดเสียงดัง (ต้องคำนึงถึงการถ่ายเทความร้อนของเครื่องจักรด้วย)
- ทำฉากกั้นระหว่างแหล่งกำเนิดเสียงกับบริเวณที่มีผู้ปฏิบัติงาน
- ทำห้องกั้นแยกจากบริเวณการทำงานที่มีเสียงดัง
- ติดตั้งวัสดุดูดซับเสียงที่เพดาน และผนัง เพื่อดูดซับเสียงที่แพร่มาจากการทำงานของเครื่องจักร และลดปัญหาการสะท้อนเสียง
- ย้ายเครื่องจักร หรือขั้นตอนการทำงานที่ก่อให้เกิดเสียงดังไปยังบริเวณกั้นแยกเฉพาะ หรือให้มีระยะทางห่างออกไป
ตัวอย่างป้องกันที่ตัวบุคคล
- ลดระยะเวลาการทำงานที่สัมผัสเสียงดัง โดยการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการทำงาน
- บริเวณการทำงานที่มีเสียงดังเกินมาตรฐาน ต้องทำเครื่องหมายหรือป้ายเตือนให้ผู้ปฏิบัติงานใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเสียงดังตลอดระยะเวลาที่ทำงานสัมผัสเสียงดัง
อุปกรณ์ลดเสียง ได้แก่ ปลั๊กลดเสียง (Ear Plugs) หรือครอบหูลดเสียง (Ear Muffs) อุปกรณ์ทั้งสองชนิดมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันดังนี้
เฝ้าระวังการสูญเสียการได้ยิน โดยการตรวจสมรรถภาพการได้ยินปีละครั้ง
หากภายในสถานประกอบกิจการมีระดับเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานแปดชั่วโมง ตั้งแต่แปดสิบห้าเดซิเบลเอขึ้นไป จะต้องทำโครงการอนุรักษ์การได้ยิน
ที่มา : ดร.พรพิมล กองทิพย์. สุขศาสตร์อุตสาหกรรม. นำอักษรการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2545.
สมพิศ พันธุเจริญศรี. ถาม-ตอบ ปัญหาเสียงดัง & หูตึง จากการทำงาน. พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ : สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน, 2545.
ฝ่ายพัฒนาความปลอดภัย สาขาสุขศาสตร์แรงงาน.เสียงดังในบริเวณการทำงาน .สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน