อัคคีภัย

อัคคีภัย
 

        อัคคีภัย หมายถึง ภยันตรายอันเกิดจากไฟที่ขาดการควบคุมดูแล ทำให้เกิดการติดต่อลุกลามไปตามบริเวณ ที่มีเชื้อเพลิงเกิดการลุกไหม้ต่อเนื่อง สภาวะของไฟจะรุนแรงมากขึ้นถ้าการลุกไหม้ที่มีเชื้อเพลิงหนุนเนื่อง หรือมี ไอของเชื้อเพลิงถูกขับออกมามากความร้อนแรงก็จะมากยิ่งขึ้น สร้างความสูญเสียให้ทรัพย์สินและชีวิต

สาเหตุของอัคคีภัย

        สาเหตุของการเกิดอัคคีภัยจนทำให้เกิดการลุกลามเกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่นั้น อาจเกิดได้ 2 ลักษณะใหญ่คือ

        สาเหตุของอัคคีภัยอันเกิดจากความตั้งใจ เช่น การลอบวางเพลิงหรือการก่อวินาศกรรม ซึ่งเกิดจากการจูงใจอันมีมูลสาเหตุจูงใจที่ทำให้เกิดการลอบวางเพลิง อาจเนื่องมาจากเป็นพวกโรคจิต

        สาเหตุของอัคคีภัยอันเกิดจากความประมาท ขาดความระมัดระวัง

                - ขาดความระมัดระวังในการควบคุมเชื้อเพลิง

                - ขาดความระมัดระวังการใช้ไฟและความร้อน

แหล่งกำเนิดอัคคีภัย

แหล่งกำเนิดอัคคีภัยแตกต่างกันไปดังต่อไปนี้

        - อุปกรณ์ไฟฟ้า

        - การสูบบุหรี่หรือการจุดไฟ

        - ความเสียดทานของประกอบของเครื่องจักร เครื่องยนต์

        - เครื่องทำความร้อน

        - วัตถุที่มีผิวร้อนจัด เช่น เหล็กที่ถูกเผา ท่อไอน้ำ

        - เตาเผาซึ่งไม่มีฝาปิดหรือเปลวไฟที่ไม่มีสิ่งปกคลุม

        - การเชื่อมและตัดโลหะ

        - การลุกไหม้ด้วยตัวเอง เกิดจากการสะสมของสารบางชนิด เช่น พวกขยะแห้ง ถ่านหินจะก่อให้เกิดความร้อนขึ้นในตัวของมันเอง จนกระทั่งถึงจุดติดไฟ

        - เกิดจากการวางเพลิง

        - ประกายไฟที่เกิดจากเครื่องจักรขัดข้อง 

        - โลหะหรือวัตถุหลอมเหลว

        - ไฟฟ้าสถิต

        - ปฏิกิริยาของสารเคมีบางชนิด เช่น โซเดียม โปแตสเซียม ฟอสฟอรัส เมื่อสัมผัสกับน้ำ อากาศ หรือวัสดุอื่นๆ ทำให้เกิดการลุกไหม้ได้

        - สภาพบรรยากาศที่มีสิ่งปนเปื้อนก่อให้เกิดการระเบิดได้

        - จากสาเหตุอื่น ๆ

อันตรายจากไฟไหม้

        ความมืดปกคลุม เนื่องจากอยู่ภายในอาคารกระแสไฟฟ้าถูกตัด หมอกควันหนาแน่น หรือเป็นเวลากลางคืน

วิธีแก้ไข

        - ติดตั้งอุปกรณ์ไฟส่องสว่างฉุกเฉิน ( Emergency Light ) ซึ่งทำงานได้ด้วยแบตเตอรี่ทันที ที่กระแสไฟฟ้าถูกตัด

        - ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง เมื่อกระแสไฟฟ้าถูกตัด

        - เตรียมไฟฉายที่มีกำลังส่องสว่างสูง ไว้ให้มีจำนวนเพียงพอในจุดที่สามารถนำมาใช้ได้สะดวก

        - ฝึกซ้อมหนีไฟเมื่อไม่มีแสงสว่าง ด้วยตนเองทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ในโรงแรม หรือ แม้แต่ในโรงพยาบาล โดยอาจใช้วิธีหลับตาเดิน

        แก๊สพิษและควันไฟ ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุเพลิงไหม้ประมาณ ร้อยละ 90 เป็นผลจากควันไฟ ซึ่งมีทั้งก๊าซพิษ และทำให้ขาดออกซิเจน

วิธีแก้ไข

        - จัดเตรียม หน้ากากหนีไฟฉุกเฉิน (Emergency smoke mask)

        - ใช้ถุงพลาสติกใส ขนาดใหญ่ตักอากาศแล้วคลุมศีรษะหนีฝ่าควัน (ห้ามฝ่าไฟ)

        - คืบ คลานต่ำ อากาศที่พอหายใจได้ยังมีอยู่ใกล้พื้น สูงไม่เกิน 1 ฟุต แต่ไม่สามารถทำได้เมื่ออยู่ในชั้นที่สูงกว่าแหล่งกำเนิดควัน

        ความร้อนสูง

วิธีแก้ไข

        ถ้าทราบตำแหน่งต้นเพลิงและสามารถระงับเพลิงได้ ควรระงับเหตุเพลิงไหม้ ด้วยความรวดเร็ว ไม่ควรเกิน 5 นาทีหลังจากเกิดเปลวไฟ ควรหนีจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด ไปยังจุดรวมพล

ระยะการเกิดไฟไหม้ 3 ระยะ ดังนี้

        1. ไฟไหม้ขั้นต้น คือ ตั้งแต่เห็นเปลวไฟ จนถึง 5 นาที สามารถดับได้ โดยใช้เครื่องดับเพลิงเบื้องต้น แต่ผู้ใช้จะ ต้องเคยฝึกอบรมการใช้เครื่องดับเพลิงมาก่อน จึงจะมีโอกาสระงับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        2. ไฟไหม้ขั้นปานกลาง ถึงรุนแรง คือ ระยะเวลาไฟไหม้ไปแล้ว 5 นาที ถึง 8 นาที อุณหภูมิจะสูงมาก เกินกว่า 400 องศาเซลเซียสหากจะใช้เครื่องดับเพลิง เบื้องต้น ต้องมีความชำนาญ และต้องมีอุปกรณ์จำนวนมากเพียงพอ  จึงควรใช้ระบบดับเพลิงขั้นสูง จึงจะมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากกว่า

        3. ไฟไหม้ขั้นรุนแรง คือ ระยะเวลาไฟไหม้ต่อเนื่องไปแล้ว เกิน 8 นาที และยังมีเชื้อเพลิงอีกมากมายอุณหภูมิ จะสูงมากกว่า 600 องศาเซลเซียส ไฟจะลุกลามขยายตัวไปทุกทิศทางอย่างรุนแรงและรวดเร็ว การดับเพลิง จะต้อง ใช้ผู้ที่ได้รับการฝึก พร้อมอุปกรณ์ในการระงับเหตุขั้นรุนแรง

องค์ประกอบของไฟ มี  3 อย่าง คือ

        1. ออกซิเจน (Oxygen)ไม่ต่ำกว่า 16 % (ในบรรยากาศ  ปกติจะมีออกซิเจนอยู่ประมาณ 21 %)

        2. เชื้อเพลิง (Fuel)  ส่วนที่เป็นไอ (เชื้อเพลิงไม่มีไอ ไฟไม่ติด)

        3. ความร้อน (Heat) เพียงพอทำให้เกิดการลุกไหม้

        ไฟจะติดเมื่อองค์ประกอบครบ 3 อย่าง  ทำปฏิกิริยาทางเคมีต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ( Chain Reaction ) ดังนั้นการป้องกันไฟ และการดับไฟ คือ การกำจัดองค์ประกอบขอไฟ

วิธีการดับไฟ จึงสามารถทำได้  3  วิธี คือ

        1. ตัดออกซิเจน  เช่น  การฉีดโฟมคลุม เป็นต้น

        2. ตัดเชื้อเพลิง  เช่น ถ่าย/ย้ายเชื้อเพลิงให้เหลือน้อยที่สุด

        3. ลดความร้อน  เช่น  ฉีดน้ำ (cooling)