เมื่อ...ที่ทำงานเป็นพิษ!

เมื่อ...ที่ทำงานเป็นพิษ!
 

        อาการเจ็บป่วยขององค์กร ที่กำลังผลักให้คนเอาตัวและหัวใจออกห่าง แม้ยังทำงานอยู่ก็อยู่อย่าง Half withdrawn มาแต่ตัวหัวใจไม่มาด้วย

        เวลาทำงานต่อสัปดาห์ของคนทำงานสะท้อนความสัมพันธ์ของคนต่อที่ทำงาน และยังสื่อนัยยะอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ต่อความเป็นอยู่ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

        ในขณะที่สหรัฐอเมริกา เจ้าของวลี ไนท์ทูไฟว์ หรือ เก้าโมงเช้า ถึง ห้าโมงเย็น คนทำงานใช้เวลาทำงานปกติ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นับว่าอยู่ในระดับบรรทัดฐานค่าเฉลี่ย เมื่อเทียบกันฝรั่งเศสที่ชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า เพียงสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมงเท่านั้น นับว่าน้อยกว่าอย่างน่าสนใจ เมื่อเทียบกับประเทศที่ชั่วโมงการทำงานปกติ 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อย่างจีนและสิงคโปร์ แต่ถึงอย่างไรก็โค่นแชมป์อินเดียไม่ได้ ที่ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 11 ชั่วโมง หรือ 66 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

        ข้อมูลดังกล่าวมา เราว่ากันที่ชั่วโมงทำงานปกติ ไม่ใช่ชีวิตจริงที่หากทำงานระดับบังคัญบัญชาบริหาร หรืองานในสายงานเฉพาะ ที่จำเป็นต้องใช้เวลาในงานเพื่อสร้างผลลัพท์ความสำเร็จ ซึ่งอาจให้และใช้เวลากับที่ทำงานมากกว่าข้อตกลงเพิ่มขึ้น 25-50% อย่างเป็นที่รู้กัน

        หากที่ทำงานเป็นบ้านที่สอง คนทำงานมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ มีบรรยากาศ วัฒนธรรมที่เอื้อต่อความกระตือรือร้นและผูกพัน การจะทำงานเกินเวลาเพื่อสร้างความสำเร็จแก่องค์กรในภาพใหญ่ ไม่นับเป็นเรื่องอะไรได้เลย นอกจากความสมัครใจจริง

        แต่หากสถานที่ทำงานเป็นที่ที่คนทำงานรู้สึกผิดที่ผิดทาง เข้ากันไม่ใคร่ได้ บรรยากาศทะมึน หรือคุณภาพความสัมพันธ์ย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นด้วยปัจจัยทางเหตุผลหรืออารมณ์ การจะหวังความทุ่มเทเต็มที่ไม้ในเวลาทำงานปกติจึงเป็นเรื่องเกินจริงอยู่บ้างค่ะ

        ทุกผลย่อมมีเหตุที่มา ก่อนจะว่ากันถึงสาเหตุของที่ทำงานเป็นพิษ ดิฉันขอนำเสนออาการเจ็บป่วยขององค์กรที่กำลังผลักให้คนเอาตัวและหัวใจออกห่าง และแม้ยังทำงานอยู่ก็อยู่อย่าง Half withdrawn คือ มาแต่ตัวหัวใจไม่มาด้วย ทำงานอย่างเสียไม่ได้ รู้สึกทนทุกข์ในที่ทำงาน กังวลและเครียดในทุกเย็นค่ำของวันอาทิตย์ จนกลายเป็นคนเกลียดวันจันทร์จนได้ในท้ายที่สุด

        จากแนวคิดของ Kevin Kuske ที่นำเสนอวิธีการสร้างที่ทำงานที่เป็นสุข ได้กล่าวถึงลักษณะอาการของที่ทำงานเป็นพิษ อาจพ้องกับที่ทำงานบ้านเราบ้างก็เป็นได้ ลองพิจารณาดูค่ะ

        1. คนทำงานด้วยความระแวดระวังสูง กังวลจนถึงเกร็งในสถานการณ์ทำงานปกติ สังเกตได้จากการพูด ปฎิบัติตัว หรือปฎิสัมพันธ์ ที่ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่สะดวกใจ มีความระแวงต่อทุกสถานการณ์คล้ายมีคนจับจ้องอยู่ ด้วยเกรงว่าทุกการกระทำและคำพูดจะส่งผลสะท้อนกลับเชิงลบ ลักษณะการณ์นี้แสดงถึงความไว้ใจในคนทำงานและที่ทำงานต่ำมาก

        2. คนทำงานขาดชีวิตชีวา คล้ายหุ่นยนต์ เก็บตัวเงียบในที่โต๊ะหรือห้องทำงาน ไม่แสดงออกทางสีหน้า พูดน้อย เคลื่อนไหวน้อย สังเกตได้ชัดว่า ขาดแรงใจ ขาดความกระตือรือร้น ถึงขั้นทำงานเพื่อฆ่าเวลาให้จบไปวันๆ อาการนี้สื่อถึงความจำใจในการมาทำงาน

        3. คนทำงานไม่รู้จักผลิตภัณฑ์บริการและเป้าหมายของธุรกิจ หากเดินสำรวจองค์กร ราวสี่หน่วยงาน จะหาความคล้ายคลึงหรือจุดร่วมแทบไม่ได้ หรือไม่มีเลย เพราะคนทำงาน ทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตนเท่านั้น โดยขาดความเชี่ยมโยง หรือใส่ใจ

        4. ไร้อารมณ์ขัน ความสำคัญที่แท้ของการมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในที่ทำงาน เป็นการสื่อถึงความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อกันและกัน หากบรรยากาศแห้งแล้ง มีแต่ความเป็นทางการ ขาดความสนุกสดใส นอกจะเป็นสัญญาณของผลงานที่ต่ำแล้ว ยังหมายความถึงขวัญกำลังใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่น้อย

        5. ขาดการปฏิสัมพันธ์ หากคนทำงานเดินเข้าสู่ที่ทำงาน ก้มหน้าก้มตาทำงานในหน้าที่ โดยไม่พบปะคบหา หรือพูดคุยกับผู้ใด กระทั่งถึงเวลากลับ นับเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องจับตา

        อาการที่ทำงานเป็นพิษที่ว่า ย่อมเป็นผลที่มาจากเหตุหลากประการที่ผสมโรงร่วมกันและเพาะบ่มกลั่นตัวผ่านวันเวลา ทั้งยังถูกมองข้ามหรือเสริมแรงให้ดำรงคงอยู่ จนสร้างบรรยากาศพิษที่มีฤทธิ์กัดกร่อนบั่นทอนแรงใจ

        ที่สำคัญที่สุด ยังกระจายตัวในบรรยากาศ เกิดการติดเชื้อที่ทำงานเป็นพิษได้อย่างแพร่หลาย ต่อเนื่องและลุกลาม กระทบบั่นทอนฉุดรั้งต่อทุกมิติของการจัดการและการแข่งขันในท้ายที่สุด

ที่มาหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย เสาวคนธ์ ศิรกิดากร