ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่อยู่นี้ ไอที24ชั่วโมง มีความห่วงใยทุกๆท่านเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ประสานขอคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีใกล้ตัวที่สุด อันมีประโยชน์อนันต์ แต่ก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากถูกไฟดูด โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำท่วมขัง จะยิ่งเป็นอันตรายอย่างมาก บทความนี้จึงนำข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า ทั้งก่อนน้ำท่วมและในขณะที่น้ำท่วมมาฝากกัน ด้วยความห่วงใยค่ะ….ขอขอบคุณ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำหรับข้อมูลอันเป็นประโยชน์ค่ะ
ข้อแนะนำเกี่ยวกับไฟฟ้าในกรณีที่มีน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขัง
- ก่อนน้ำท่วมเข้าภายในบ้านหรือบริเวณบ้าน ให้รีบขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูงหรือที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึง
- กรณีเป็นบ้านสองชั้นและมีสวิตช์แยกแต่ละชั้น หากน้ำกำลังจะท่วมชั้นล่าง ให้ปลดสวิตช์ (เบรกเกอร์เมน) ตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นล่าง และปลดเบรกเกอร์ย่อยลงให้หมด
- กรณีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานและมีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบ้าน ให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชั้นบน โดยให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้าปลดสวิตช์ที่ชั้นล่างให้เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าเพื่อแยกวงจรชั้นบนและชั้นล่าง
- กรณีบ้านชั้นเดียว ให้งดใช้ไฟฟ้าโดยเด็ดขาด งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงห้ามเปิดปิดสวิตช์ไฟด้านในและด้านนอกอาคารที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะตัวเปียกหรือยืนแช่น้ำ แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นอาจอยู่เหนือระดับน้ำ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ *** ปลั๊กไฟที่น้ำท่วมห้ามใช้งานเด็ดขาด ***
- ควรอยู่ห่างจากเสาไฟฟ้าหรือระบบจำหน่ายในพื้นที่น้ำท่วม รวมทั้งปลั๊กไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถูกน้ำท่วมอย่างน้อย 1 – 2 เมตร เพื่อความปลอดภัย
หากพบเห็นสายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้มหรือสายไฟฟ้าขาดแช่น้ำ อย่าเข้าใกล้หรือสัมผัส ให้รีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่หรือสายด่วน กฟภ. โทร.1129 เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการแก้ไข
- พบผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด อย่าใช้มือเปล่าแตะต้องตัวผู้ที่ติดอยู่กับกระแสไฟฟ้าหรือตัวนำที่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายเป็นอันขาด เพื่อป้องกันมิให้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนได้รับอันตรายไปด้วย
* ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกแห้ง สายยางหรือพลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยางหรือผ้าแห้งพันมือให้หนา แล้วผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว หรือใช้ผ้าคล้องหรือให้ผู้มีความรู้ด้านไฟฟ้าปลดสวิตช์ จากนั้น ปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล
* หากเป็นสายไฟฟ้าแรงสูง ให้หลีกเลี่ยงและรีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่หรือสายด่วน กฟภ. โทร.1129 โดยเร็วที่สุด
* อย่าลงไปในน้ำ กรณีมีกระแสไฟฟ้าอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง หาวัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้าเขี่ยสายไฟฟ้าออกให้พ้นหรือแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้าก่อน จึงค่อยช่วนผู้ประสบอันตราย
*** การช่วยผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้า จำเป็นต้องกระทำด้วยความรวดเร็ว รอบคอบและระมัดระวังเป็นพิเศษ ***
ที่มาข้อมูลและภาพ :
- แผนกส่งเสริมและเผยแพร่ความปลอดภัย กองมาตรฐานความปลอดภัย ฝ่ายมาตรฐานและความปลอดภัย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด
…… (โปรดดูภาพประกอบวิธีปฏิบัติ) ……..
* เมื่อพบผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด *
- การช่วยเหลือเบื้องต้น : ควรแยกผู้ประสบเหตุออกจากวงจรไฟฟ้า โดย
ปลดสวิตช์ที่จ่ายไฟ เช่น คัทเอาท์ เต้าเสียบออก หรือ
ใช้ไม้แห้ง เชือก แยกผู้ป่วยออกจากวงจรไฟฟ้า
จากนั้น เรียกและเขย่าตัวผู้ป่วยเพื่อดูว่าหมดสติหรือไม่และจัดผู้ป่วยให้นอนราบหงายบนพื้นแข็ง
* ถ้าหยุดหายใจ ต้องเป่าปาก *
ตรวจดูว่าผู้ป่วยยังหายใจอยู่หรือไม่และหากไม่หายใจ ให้ใช้มือกดหน้าผากผู้ป่วยให้แหงนขึ้นและใช้มืออีกข้างหนึ่งดันคางผู้ป่วยขึ้น
ให้เอานิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือบีบจมูกผู้ป่วยให้แน่น แล้วเป่าลม หายใจเข้าปอดผู้ป่วยเต็มที่ 2 ครั้ง แล้วปล่อยให้ลมออก
* ถ้าหัวใจหยุดเต้น ต้องนวดหัวใจ *
ตรวจการเต้นของหัวใจผู้ป่วย โดยการคลำชีพจรที่คอหรือที่ข้อมือของผู้ป่วยประมาณ 5 วินาที
ใช้ 2 นิ้ววางเหนือตำแหน่งลิ้นปี่ วางส้นมือถัดจากตำแหน่งนิ้วทั้งสอง
ประสานมือซ้อนกัน แล้วโน้มตัวเข้าหาผู้ป่วย เหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรง
แล้วกดให้ตรงตำแหน่ง อัตราการนวดหัวใจ 30 ครั้ง ต่อ การเป่าปาก 2 ครั้ง
* ถ้าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น *
หากผู้ป่วยไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้เป่าปาก 2 ครั้ง สลับกับการนวดหัวใจ 30 ครั้ง เท่ากับ 1 ชุด
เป่าปากสลับกับการนวดหัวใจครบ 4 ชุด ให้ประเมินอาการของผู้ป่วย 1 ครั้ง โดยการจับชีพจร
* กรณีที่มีผู้ช่วยเหลือมากกว่า 1 คน *
เป่าปาก 2 ครั้ง สลับกับการนวดหัวใจ 30 ครั้ง เท่ากับ 1 ชุด
เป่าปากสลับกับการนวดหัวใจ 4 ชุด ให้ประเมินอาการของผู้ป่วย 1 ครั้ง โดยการจับชีพจร
*** การปฐมพยาบาลต้องทำทันทีที่ช่วยผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดออกมาและควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ขณะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล จะต้องทำการปฐมพยาบาลตามขั้นตอนดังกล่าวตลอดเวลาจนกระทั่งถึงมือแพทย์ ***
ที่มาข้อมูลและภาพ : จากแผ่นพับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
จัดทำโดย แผนกส่งเสริมและเผยแพร่ความปลอดภัย กองมาตรฐานความปลอดภัย ฝ่ายมาตรฐานและความปลอดภัย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
สาเหตุที่จำเป็นต้องตัดกระแสไฟฟ้าในขณะที่น้ำท่วมสูง
กรณีน้ำท่วมสูง อาจทำให้ระบบจำหน่ายของ กฟภ.ได้รับความเสียหายหรือเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเป็นต้องงดจ่ายกระแสไฟฟ้าชั่วคราว โดยมีการประสานงานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งเร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อให้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้ากลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว