นวดอย่างไร ปลอดภัย ห่างไกลโรค

นวดอย่างไร ปลอดภัย ห่างไกลโรค
 

        การนวดแผนไทย หรือนวดแผนโบราณ เป็นศาสตร์บำบัด และรักษาโรคแขนงหนึ่งที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการนวดนอกจากจะเป็นวิธีแรกที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้รักษาอาการปวดแล้ว ยังสามารถช่วยเสริมในการบำบัดรักษาโรคได้อีกหลายชนิด เช่น ไมเกรน อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น อย่างไรก็ตามแม้การนวดที่ดูไม่มีอันตราย และเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในสายตาของคนทั่วไป แต่การนวดก็ยังมีข้อห้าม ข้อควรพึงระวัง ที่ผู้เข้ารับการนวดควรรู้และตระหนักเพื่อความปลอดภัย

        รศ.นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และอดีตนายกสมาคมศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนวดเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้บำบัดรักษาโรคมายาวนาน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยการนวดถือเป็นการแพทย์มายาวนานแต่เริ่มมีการบันทึกในสมัยสุโขทัย โดยหากแบ่งตามศาสตร์การนวดแผนไทยแล้ว การนวดจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท การนวดแบบเชลยศักดิ์ เป็นวิธีการนวดที่ค่อนข้างรุนแรง มีการใช้ศอก ใช้เข่า เท้าเหยียบ ดึงดัด เรียกว่าครบเครื่อง เป็นที่นิยมของบุคคลทั่วไป หรือทาสในสมัยนั้น ที่ต้องทำงานหนักร่างกายกำยำ

        ส่วนประเภทที่ 2 คือ การนวดแบบราชสำนัก เป็นการนวดที่ปรับปรุงมาจากนวดแบบทั่วไปให้สุภาพและลดความรุนแรง เพื่อนวดเจ้านายชั้นสูงในราชสำนัก ใช้เท้าขึ้นไปเหยียบไม่ได้ เข่า ศอก ดึงดัด ตัดออกหมด ให้ใช้มืออย่างเดียว ซึ่งทุกวันนี้เรียกการนวดแบบราชสำนักว่า "นวดอายุรเวช" ซึ่งเป็นลักษณะของ "นวดกดจุด"

ปัจจุบันการนวดแผนไทยได้บูรณาการมาใช้ร่วมกับการแพทย์สมัยใหม่ใน 3 รูปแบบ ตามสรรพคุณ คือ

        1. นวดเพื่อสุขภาพ เป็นการนวดเพื่อความผ่อนคลาย บำรุงสุขภาพ ทำให้สดชื่น กระฉับกระเฉง ดังเช่นสถานบริการนวดทั่วไป สปาต่างๆ เป็นการนวดที่มีให้บริการมากที่สุดในปัจจุบัน

        2. นวดเพื่อการบำบัดรักษา ซึ่งได้ผลดีมากสำหรับคนไข้ที่มีอาการปวดเรื้อรังของระบบกระดูก และกล้ามเนื้อ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ เรื้อรัง สะบักจม ไหล่ติด รวมถึงนวดรักษาไมเกรน เป็นต้น

        3. นวดเพื่อการฟื้นฟูสรรถภาพ เป็นการนวดเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัว เช่น คนไข้ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายไม่ว่าจะเป็นระบบข้อต่อ กล้ามเนื้อ รวมถึงระบบไหลเวียนให้ฟื้นตัว ซึ่งในมุมมองของแพทย์สมัยใหม่เชื่อว่าการนวดแบบนี้ช่วยลดการเกร็งของกล้ามเนื้อได้ และยังช่วยให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายสบายตัว และลดอาการเครียดของผู้ป่วยเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

        แน่นอนว่าการนวดมีประโยชน์มากมาย ช่วยลดปวด ให้ความผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใต แต่ก็เหมือนกับกรณีของการรักษาด้วยยาหรือผ่าตัดที่มีข้อควรระวังหรือข้อห้ามอยู่ไม่น้อย

        รศ.นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า โดยภาพรวมการนวดถือเป็นการรักษาที่ปลอดภัยหรืออันตรายน้อยมาก ถ้ารู้ข้อควรระวังหรือข้อห้าม อันได้แก่

        - ระยะที่มีไข้ โดยเฉพาะไข้สูงเกิน 38.5 องศา ให้หลีกเลี่ยงการนวดเพราะกล้ามเนื้อยอกระบมได้ง่าย

        - ข้อ และกล้ามเนื้ออักเสบในระยะเฉียบพลันที่มีอาการปวดมาก บวมแดง ให้หลีกเลี่ยงจนกว่าอาการจะทุเลาก่อน

        - หลีกเลี่ยงการนวดบริเวณที่เคยมีกระดูกหัก หรือตำแหน่งที่มีการผ่าตัดกระดูก เช่น ผ่าตัดใส่ข้อเทียม เพราะกระดูกที่เคยหักเมื่อประสานกันแล้วจะไม่แข็งแรงเท่าเดิม อาจทนแรงกดไม่ได้ ส่วนบริเวณที่ใส่ข้อเทียมอาจมีการเคลื่อนหรือหลุดได้

        - ภาวะข้อหลวมหรือเคลื่อน เช่น ผู้ป่วยไขข้อรูมาตอยด์ ผู้ที่มีกระดูกสันหลังเคลื่อน ไหล่หลวม และหลุดบ่อยๆ ควรหลีกเลี่ยงการบีบนวดบริเวณของข้อนั้นๆ

        - ผู้ที่มีภาวะผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เพราะอาจทำให้เลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจ้ำ หรือเป็นก้อนเลือดในกล้ามเนื้อได้ถ้านวดรุนแรง

        - ผู้ที่มีปัญหามีลิ่มเลือดในหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานมาเป็นเวลานาน มีไขมัน ในเส้นเลือดสูง อาจจะมีผนังหลอดเลือดที่ขรุขระทำให้เกล็ดเลือดไปเกาะ และจับตัวกลายเป็นลิ่มเลือดได้ ซึ่งพบบ่อยที่บริเวณกล้ามเนื้อน่องทำให้มีอาการปวด และบวมแดง หากนวดแล้วลิ่มเลือดหลุด มักจะเข้าไปอุดเส้นเลือดที่ปอดและเป็นอันตรายต่อชีวิต

        - ผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนขั้นรุนแรง ไม่แนะนำให้นวดเพราะกระดูกอาจหักได้

        - ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางผิวหนัง หรือมีบาดแผล ห้ามนวดหรือสัมผัสบริเวณนั้นๆ เพราะเสี่ยงต่อการติดโรคหรือติดเชื้อ

        - ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งมักจะมีอาการปวดเมื่อย สามารถนวดได้เบาๆ แต่ต้องหลีกเลี่ยงตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง

        - ห้ามนวดในสตรีตั้งครรภ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรก เพราะเด็กในครรภ์ยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ แต่ถ้าหากมีอาการปวดหลังในช่วงที่เลย 3 เดือนแรก นวดได้ แต่ด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรนวด บริเวณหน้าท้อง ควรนอนตะแคงนวด ไม่ให้นอนคว่ำ

        สำหรับผู้ที่ไม่เคยนวดไทยมาก่อน ในการนวดครั้งแรกๆ อาจไม่แน่ใจ กล้าๆ กลัวๆ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งไม่ผ่อนคลายขณะถูกนวดจะปวดยอกตามมาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ประจำ ไม่ต้องกังวล เพราะอาการต่างๆ เหล่านี้มักจะหายไปใน 1-3 วัน และจะรู้สึกสบายหายปวดเมื่อยตามมา แต่หากอาการปวดไม่หายหรือปวดมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

        รศ.นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ในภาพรวมแล้ว การนวดเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมากกับปัญหาปวดของระบบกระดูก และกล้ามที่เรื้อรัง เมื่อเทียบจำนวนผู้ที่มาใช้บริการกับผู้ที่เกิดปัญหาต้องถือว่าระดับความปลอดภัยในการนวดค่อนข้างดีมาก

        หรือกล่าวอีกนัยคืออันตรายจากการนวด ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับการรักษารูปแบบ อื่นๆ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามข้อควรระวังหรือข้อห้ามที่กล่าวไว้ข้างต้น ส่วนใครที่มีปัญหาสุขภาพหากจะใช้บริการเรื่องนวดแบบบำบัดรักษา ควรให้ความสนใจเรื่องข้อควรระวังหรือข้อห้ามดังกล่าว และรักษากับผู้ที่มีใบรับรองด้านนี้โดยเฉพาะ

        อย่างไรก็ตามการนวดก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบำบัดรักษา แต่การจะมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนนั้น รศ.นพ.ประดิษฐ์ แนะนำ ทิ้งท้ายว่า ควรกินอาหารที่เป็นประโยชน์ หลีกเลี่ยงหรือรู้จักที่จะอยู่ร่วมกับความเครียดอย่างชาญฉลาด และหมั่นหาเวลาออกกำลังกาย ควบคู่ไปด้วย

        "อันตรายจากการนวด ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับการรักษา รูปแบบอื่นๆ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามข้อควรระวังหรือ ข้อห้าม"

 ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สวทช.