อันตรายจากการนอนกรน
โดยปกติคนเราจะมีการหายใจสม่ำเสมอขณะตื่นเพราะสมองยังตื่นตัว กล้ามเนื้อทุกส่วนยังทำงานปกติ เมื่อร่ายกายหลับสมองจะเริ่มผ่อนคลาย กล้ามเนื้อทุกส่วนก็ผ่อนคลายตาม รวมทั้งกล้ามเนื้อหายใจ ทำให้ขณะหลับมีการหายใจไม่สม่ำเสมอ จะเกิดอาการนอนกรน พร้อมกับอาการหายใจลำบาก ในเด็กพบมากช่วงอายุ 2-6 ปีเนื่องจากต่อมทอนซิลที่อยู่ข้างในโคนลิ้นและต่อมอดีนอยด์ที่อยู่หลังจมูก มีขนาดโตเบียดบังทางเดินหายใจส่วนบนและพบมากในเด็กกลุ่มอ้วนที่มีน้ำหนักมากผิดปกติ
อาการ
พบว่ามีอาการนอนกรนร่วมกับอาการหายใจลำบากขณะหลับซึ่งตรงข้ามกับขณะตื่นจะหายใจได้ปกติดี อาการหายใจลำบากพบว่า มีการหายใจแรง นอนกระสับกระส่าย นอนในท่าแปลกๆ อ้าปากหายใจ มีเสียงกรนขาดหายเป็นช่วงๆ ทั้งที่กำลังหายใจ พบว่าขณะที่หายใจเข้าหน้าอกยุบแต่ท้องป่องขึ้น ในเด็กจะมีปัสสาวะรดที่นอน ตอนกลางวันเด็กอาจซุกซน ไม่อยู่นิ่งและความสามารถในการเรียนลดลง ประสิทธิภาพการทำงานลดลงหรือไม่มีสมาธิในการทำงาน หงุดหงิดง่าย มีอาการสะดุ้งตื่นบ่อยจากฝันร้ายจะมีปัญหาตื่นตอนเช้าปวดมึนศีรษะ ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น
การรักษาในเด็ก
- ส่วนใหญ่รักษาโดยการผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลและอดีนอยด์ออก
- รักษาโรคติดเชื้อและโรคภูมิแพ้
- ถ้าเด็กอ้วนต้องลดน้ำหนัก
- ถ้าแก้ไขทุกอย่างแล้ว ยังไม่ดีขึ้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ CPAP , การใช้เครื่องปรับแรงดันบวกผ่านหน้ากากครอบจมูกขณะหลับ เป็นเครื่องช่วยหายใจให้ความดันบวกตลอดเวลา ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ใส่และคำแนะนำดูแลจากแพทย์
- การใส่อุปกรณ์ครอบฟัน
ผลต่อสุขภาพของการหยุดหายใจขณะหลับ
การหยุดหายใจขณะหลับมีผลทำให้ออกซิเจนในเลือดลดลง ถ้าอาการหายใจสะดุด หรือมีอาการหยุดหายใจมากขึ้นและติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบต่อสมอง ความจำ การเรียนรู้ และสมาธิจะลดลง ในเด็กจะมีพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ที่ลดลง และรุนแรงที่สุด จะทำให้หัวใจทำงานมากขึ้น จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้
การพยากรณ์โรค
ในเด็กส่วนใหญ่อาการดีขึ้นชัดเจนหลังผ่าตัดต่อมทอนซิลและอดีนอยด์ออก สำหรับผู้ใหญ่ใช้การผ่าตัดและการใช้เครื่องมือคลื่นความถี่ช่วยรักษาได้