7 นิสัยออนไลน์ อันตรายที่คาดไม่ถึง!

7 นิสัยออนไลน์ อันตรายที่คาดไม่ถึง!
 

        เพราะเฟซบุ๊คเป็นโลกชุมชนเสมือนจริงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้คนเข้ามาพูดคุย บอกเล่า และสร้างความสัมพันธ์เก่าใหม่ไปพร้อมๆ กัน เมื่อชุมชนหนึ่งๆ ที่มีประชากรมากขนาดนั้น "ปฏิสัมพันธ์" ระหว่างกันย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และผู้คนต่างๆ นี้เอง ก็พาเอานิสัยส่วนตัวเข้ามาในโลกนี้ด้วย

        มีการศึกษาจากวารสารการแพทย์อเมริกันพบว่า เฟซบุ๊ค ทำให้คนกล้าที่จะพูดเรื่องตัวเองมากขึ้น ช่างคุยมากขึ้น และในบางราย คือ หลงตัวเองมากขึ้น อันเป็นผลมาจาก การใช้สื่อเฟซบุ๊คเพื่อสื่อสารกับคนทั้งโลกว่าคุณทำอะไรอยู่ เช่นเดียวกับ ยูทูบหรือทวิตเตอร์ ที่เน้นการสื่อสารจากตัวคุณเอง การสื่อสารในสื่อใหม่ คือ การทำให้ "คุณ" (you) ได้พูดเรื่องตนเองมากขึ้น

        อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวได้สรุปถึง 7 ลักษณะนิสัยใหม่ๆ ที่อาจเป็นปัญหาบุคลิกภาพเชิงจิตวิทยาของผู้คนในเฟซบุ๊ค ที่อาจส่งผลเสียในระยะยาว คือ

        1. "หลงใหลตัวเองมากขึ้น" ผู้คนส่วนมากรู้เรื่องตนเองดีที่สุด ฉะนั้น พวกเขาจึงมักโพสต์ทุกอย่างที่พวกเขาภูมิใจ ง่ายที่สุดคือเรื่อง "หน้าตา" คนพวกนี้มักชอบโพสต์รูปตัวเองในมุมสวย หล่อ และเฝ้ารอคนมากดชื่นชอบหรือแสดงความคิดเห็น หรือ กระทั่งการกดปุ่มไลค์ รูปที่ตนเองเพิ่งจะโพสต์ลงไป!

เฟซบุ๊คทำให้คนขี้โม้ ขี้คุย ขี้อวดมากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมการอวด หลายคนมักโพสต์รูปถ่ายกับรถใหม่ บ้านใหม่ ของเล่น ชิ้นใหม่ บ้านใหม่ งานใหม่ สถานที่เที่ยวใหม่ๆ กระทั่งอาหารที่กำลังจะทาน พวกเขาก็ไม่วายที่จะถ่ายรูปเพื่อเอามาอวดเพื่อนๆ หรืออวดว่ามีจำนวนคนมาขอเป็นเพื่อนมากมาย คนมากดชอบ แสดงความคิดเห็น ก็กลายเป็นการส่งเสริมให้พวกเขาหลงตัวเองมากขึ้นไปอีก แน่ว่าพวกเขาล้วนทำทุกอย่างเพื่อโปรโมทตัวเอง!

        2. "ขี้อิจฉามากขึ้น" เมื่อมีคนโพสต์เรื่องตนเอง หน้าตาดี ชีวิตดี ฐานะดี ดูดี ดูเท่ คนอีกจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่ดีแบบนั้น จึงกลายเป็นคนที่ขี้อิจฉามากขึ้น พวกเขายิ่งรู้สึกด้อยค่าและไม่พอใจในชีวิตตนเอง และรู้สึกว่าตนเองเป็น "ไอ้ขี้แพ้" ตลอดเวลา

ในแง่นี้อธิบายได้ว่า "เพราะในโลกจริง ผู้คนส่วนใหญ่ ก็ยังเป็นคนจน ชนชั้นกลาง หลายๆ คน ไม่ได้เป็นคนเก่ง คนที่ได้รับสถานะทางสังคมเฉกเช่นดารา คนดัง หรือบุคคลสาธารณะ เมื่อคนธรรมดาเหล่านั้นเข้ามาใช้เฟซบุ๊ค เขาก็เพียงแค่อยากจะรู้สึกเป็นคนเด่น คนดัง คนสำคัญบ้าง จึงต้องสร้างภาพตนเองให้ดูดีในพื้นที่สาธารณะสักเล็กน้อย เพื่อหลอกตัวเองหรือผู้อื่น  การยกระดับภาพชีวิตตนเองให้ดีขึ้น ก็มิใช่อะไรอื่น นอกจากเขาอิจฉาคนอื่น ไม่ว่าจะมาจากโลกจริงหรือโลกเสมือนก็ตาม"

        3. "มองโลกในแง่ร้าย" เฟซบุ๊คเป็นที่ที่คนชอบโพสต์เรื่องส่วนตัวดีๆ ขณะที่เรื่องส่วนรวมของสังคมมักเป็นเรื่องร้ายๆ ดังนั้นคนที่เสพข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก จึงมักเห็นเรื่องปัญหาสังคมต่างๆ ถูกหยิบขยายความ ตีความ ส่งต่อแพร่หลายกระจายวงกว้าง พวกเขาจึงรู้สึกว่า "โลกช่างโหดร้าย" และมีลักษณะไม่ไว้วางใจผู้คนเรื่องต่างๆ มากขึ้น

        4. "ชอบสอดส่องสอดรู้ชีวิตคนอื่นๆ" เฟซบุ๊คเอื้อโอกาสให้เราสามารถสอดส่องดูชีวิตของเพื่อนเราได้อย่างไร้ขอบเขตเวลาและสถานที่ แม้จะมีระบบติดตั้งความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว แต่ผู้คนจำนวนมากก็หลงลืมการสร้างเขตแดนจำกัดพื้นที่ชีวิตของตน หลายคนถูก "หลงใหล/ติดตาม/เฝ้าดู" อย่างใกล้ชิดจากคนแปลกหน้าที่เข้ามาเป็นเพื่อน และชีวิตของเราก็ถูกคนทั้งโลกจับตามองอยู่ตลอดเวลา การสอดส่อง หรือการเข้าไปก้าวล่วงชีวิตของผู้อื่น นั่นแสดงว่าคุณมีปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนัก เพราะคุณเริ่มแยกไม่ออกระหว่าง พื้นที่สาธารณะ และความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น

        5. "มนุษยสัมพันธ์ดีมากขึ้น" ในที่นี้หมายถึง เป็นกันเองมากขึ้นกับทุกๆ คน เฟซบุ๊ค มีระดับความเป็นเพื่อนมากมาย แต่ทุกคนก็หลงลืมระยะห่างทางกายภาพในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้คนในเฟซบุ๊คใช้ภาษา หรือเข้ามาพูดจาทักทายผ่านข้อความกับบุคคลต่างๆ เสมือนเป็นเพื่อนมาอย่างยาวยาน พวกเขา "ระมัดระวังและรักษาระยะห่างน้อยลง"

        ความสัมพันธ์กลายเป็น "ง่ายๆ และกันเอง" นั่นทำให้ภาษาพูดและ ระดับการคุกคาม การวิพากษ์วิจารณ์มีระดับรุนแรง และนำไปสู่การพูดแบบไม่ใส่ใจเขาใจเรามากขึ้น ผู้คนในเฟซบุ๊คใช้ถ้อยคำภาษาที่กันเองมากขึ้น และนั่นนำมาสู่ การเปิดรับ รู้จักคนแปลกหน้ามากขึ้น และกับดักของอาชญากรในเฟซบุ๊คที่พวกเขามักใช้ คือ ถ้อยคำที่สุภาพ ท่าทางที่ดูคบได้ ไว้ใจได้ และการสร้างความไว้วางใจที่มาจากบทสนทนาที่ดูเป็นกันเอง

        6. "จมทุกข์แบกโลกซึมเศร้า" มีหลายคนที่ในชีวิตจริงพวกเขาไม่มีความสุข พวกเขาจึงแบกโลกที่พวกเขาอยู่มาสถิตไว้ในเฟซบุ๊ค กลายเป็นแหล่งระบายอารมณ์ จมทุกข์ โศกเศร้ามากขึ้น การระบายอารมณ์ หรือแสดงความรู้สึกผิดหวังเสียใจนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่คุณอาจพบว่ามีเพื่อนบางคนที่มักจะอยู่ในอารมณ์เศร้าตลอดเวลา นั่นแสดงว่าเขาไม่สามารถหลุดพ้นก้าวข้าวสภาวะนั้นได้ และจะกลายเป็นคนที่มี "ภาวะซึมเศร้าแบบออนไลน์ตลอดเวลา" และคนอื่นๆ ก็จะพากันเบื่อหน่ายหรือรังเกียจพวกเขา แทนที่จะเข้าใจและช่วยรักษาพวกเขา

        7. "หลงใหลในชีวิตของผู้อื่น" เฟซบุ๊คเป็นสังคมเสมือนจริง แต่ไม่ใช่โลกจริง เป็นที่ที่ผู้คนดี เลว รวย จนมาสื่อสารร่วมกัน คนธรรมดา ดารา คนดัง มาใช้ชีวิตร่วมกันในโลกออนไลน์ ผู้คนส่วนมากที่ติดเฟซบุ๊คจะแยกแยะไม่ออกระหว่างชีวิตจริง โลกจริง พวกเขาเริ่มรู้สึกยึดติด ติดตาม ผูกพันกับชีวิตของคนอื่นๆ มากขึ้น กลายเป็นว่า พวกเขาจะใช้ชีวิตของตนเองด้วยการ "ยึดเอาชีวิตของคนอื่นเป็นแนวทาง" ที่พักพิงใจ และเริ่มสนใจชีวิตตนเองน้อยลง

        คนที่หลงใหลในชีวิตผู้อื่น จะสูญเสียความภูมิใจในตนเอง มากไปกว่านั้น คือ เฝ้ารอ เฝ้าคอยที่จะติดต่อติดตามสื่อสารกับผู้อื่น คนที่เขานับถือเป็นแบบอย่างตลอดเวลา เขาจะไม่สนใจชีวิตของตนเองอีกต่อไป! ร้ายกว่านั้นคือ "เขาอนุญาตให้ชีวิตคนอื่นเข้ามาควบคุมบงการชีวิตของเขาเอง"

        จะเห็นว่า เฟซบุ๊คนั้น มิใช่เชื้อโรคหรือไวรัส แต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่บ่มเพาะ ผลิต และเผยแพร่โรค อันเกิดมาจากผู้คนที่มาใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมเสมือนจริง ผู้คนต่างๆ เข้ามาเสพติดมันและเปลี่ยนนิสัยตนเอง หรือย้ำสร้างนิสัยเดิมตนเองให้มีความรุนแรงมากขึ้น

        พลังของเฟซบุ๊คที่ให้การสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ สภาวะไร้ขอบเขตเวลาพรมแดน และการปลดปล่อยตัว ซ่อนเร้นตนเอง จากชีวิตจริง นั่นทำให้ต่างคนต่างแพร่กระจายโรคออนไลน์ได้ง่ายขึ้น หากเราใช้สื่ออย่าง รู้ตระหนักเท่าทันสภาวะจิตใจตนเอง เท่าทันอารมณ์ และรู้ทันความโลกเสมือนจริงนี้ เราก็จะมีภูมิคุ้มกันสื่อและใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)